วันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เทคโนโลยีสารสนเทศ

เทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา

โดย ศ. (พิเศษ) ดร. ภาวิช ทองโรจน์

ประเทศไทยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เทคโนโลยีสารสนเทศที่ใช้ในการศึกษา พบว่าเรามีการใช้คอมพิวเตอร์เพียง 43 เครื่องต่อประชากร 1,000 คน ในขณะที่ ญี่ปุ่น ใช้ 477 เครื่อง เกาหลีใต้ 324 เครื่อง ไต้หวัน 314 เครื่อง และมาเลเซีย 137 เครื่อง ตามลำดับ ในสหรัฐอเมริกามีโครงการ “หนึ่งนักเรียน-หนึ่งเครื่องคอมพิวเตอร์” หรือ o­ne Laptop Per Child (OLPC) ใน ประเทศไทย เครื่องคอมพิวเตอร์ในโรงเรียนโดยทั่วไปยังขาดแคลน หรือแม้จะพอมีบ้าง แต่ก็ยังมีความขาดแคลนแหล่งเรียนรู้โดยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ
หลายๆ ประเทศจัดให้เรื่องการเรียนแบบอิเล็คโทรนิคส์ หรือ อีเลิร์นนิ่ง (e-learning) เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งไม่จำกัดอยู่เฉพาะการศึกษาในระบบเท่านั้น ทั้ง นี้ เพราะได้มีการพิสูจน์แล้วว่า อีเลิร์นนิ่ง เป็นระบบการเรียนที่มีประสิทธิภาพสูง เอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนที่อาจมีศักยภาพต่างๆ กัน ให้มีโอกาสเรียนรู้เท่าเทียมกันได้ในที่สุด เป็นระบบที่ต้นทุนในภาพรวมต่ำเพราะสามารถขยายผลไปถึงผู้เรียนได้เป็นจำนวนมาก อีเลิร์นนิ่งยังช่วยให้ระบบการจัดการความรู้ของสังคมมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และยังเอื้อต่อการศึกษาตลอดชีวิตของประชากรอีกด้วย ที่ สำคัญที่สุด คือเป็นระบบที่จะช่วยให้การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของระบบการเรียนรู้ ที่เน้นการเรียนมากกว่าการสอน หรือผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ให้เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการเรียนตาม กระบวนทัศน์ใหม่นี้จะเหมาะสมกับโลกยุคเทคโนโลยีสารสนเทศที่ต่อเนื่องมาเป็น ยุคสังคมฐานความรู้ ที่ความรู้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว มีการขยายตัวของฐานความรู้อย่างมหาศาล หากระบบจัดการความรู้ไม่มีประสิทธิภาพ ก็จะส่งผลให้สังคมนั้นๆ มีความอ่อนด้อยทางปัญญาได้ในที่สุด ถ้าเราไม่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศเราก็จะตกอยู่ในสภาพเช่นนั้น
แต่การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาไม่ได้หมายความเพียงการซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์แจกไปยังโรงเรียนหรือนักเรียน หากแต่ยังต้องจัดให้มีทรัพยากรการเรียนรู้ที่เพียงพอ และโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และระบบจัดการความรู้ที่มีประสิทธิภาพ จุดเด่นข้อหนึ่งของ พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 คือการที่กำหนดไว้ว่าต้องมีการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา แต่รูปธรรมของบทบัญญัตินี้ยังไม่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น