วันพฤหัสบดีที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2554

พัฒนาและบริหารกำลังคนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบราชการ ตอนที่ 2

การจัดการศึกษาในปี ค.ศ.2000 มีเป้าหมายมุ่งพัฒนาผู้เรียน ให้เกิดคุณลักษณะ 3 ประการ คือ ประการแรก พัฒนาคนในด้านสติปัญญา จิตใจ และร่างกาย ประการที่สอง เน้นความเป็นพลเมืองดี พึ่งตนเองได้ รับผิดชอบส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว และประการสุดท้ายสามารถพัฒนาอาชีพ พัฒนาสังคม และสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เพื่อปรับเข้าสู่โลกไร้พรมแดน ด้วยการเรียนที่แท้จริง เรียนรู้เพื่อปฏิบัติได้จริง เรียนรู้เพื่ออยู่ร่วมกัน และเรียนรู้เพื่อชีวิต การเรียนรู้ที่แท้จริง คือ มีการผสมผสานความรู้ทั่วไปที่กว้างขวางอย่างเพียงพอ เพื่อเข้ากับบางวิชาได้อย่างละเอียดลึกซึ้ง อีกทั้งยังต้องฝึกฝนในวิธีการเรียนรู้ต่าง ๆ เพื่อเป็นแนวทางการนำไปสู่การศึกษาตลอดชีวิต การเรียนรู้เพื่อปฏิบัติได้จริง เป็นการเรียนรู้ไม่เพียงแต่มีความชำนาญทางด้านวิชาชีพเท่านั้น แต่ยังสามารถรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ไม่ว่าจะเป็นการเรียนในระบบหรือนอกระบบหรือตามอัธยาศัยก็ตาม การเรียนรู้เพื่อที่จะได้อยู่ร่วมกัน ด้วยการสอนให้เข้าใจผู้อื่นและตระหนักดีว่ามนุษย์จะต้องพึ่งพาอาศัยกัน ดำเนินโครงการร่วมกันและเรียนรู้วิธีแก้ปัญหาข้อขัดแย้งต่าง ๆ ด้วยวิธีสันติ การเรียนรู้เพื่อชีวิต (Learning to Be) เพื่อจะได้สามารถปรับปรุงบุคลิกภาพของตนได้ดีขึ้น ในการจัดการศึกษาต้องคำนึงถึงการใช้เหตุผล ทักษะในการติดต่อสื่อสารผู้อื่น อีกทั้งต้องให้โอกาสแก่ทุกคนในการศึกษาตลอดชีวิต ด้วยเหตุผลนี้ ครูจึงเป็นผู้มีความสำคัญในการให้การศึกษายิ่งในยุคปฏิรูปการศึกษา ที่จำเป็นต้องใช้ยุทธวิธีเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส เพื่อให้ได้มาซึ่งครูเก่ง ครูดี มีอุดมการณ์ทันสมัย เพื่อเป็นแบบอย่างเป็นผู้ดูแล และฝึกฝนเด็กไทยให้เป็นคนเก่ง สมดังคำกล่าวที่ว่า “ครูต้องเป็นคนที่คิดสร้าง มองไกล ใฝ่รู้ สู้งาน มีวิญญาณครู” แต่สภาวะวิกฤติที่กำลังเกิดขึ้นกับครู คือ ปัจจุบันมีครูอาจารย์ทั่วประเทศประมาณ 6 แสนคน (สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ประมาณ 5 แสนคนเศษ สังกัดทบวงมหาวิทยาลัยประมาณ 2 หมื่นคนเศษ ที่เหลือสังกัดอื่น ๆ) อัตราส่วนครู คณะครุศาสตร์ สถาบันราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ช่วยราชการสถาบันราชภัฏธนบุรี ต่อนักเรียนเท่ากับ 1 : 19 แต่เงื่อนไขและมาตราการเงินกู้ของธนาคารเพื่อพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) กำหนดให้ปรับอัตราส่วนเป็น 1 : 25 ภายในปี 2545 ในขณะที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับใหม่ กำหนดให้มีการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี ทำให้ระดับมัธยมศึกษาต้องขยายชั้นเรียนและต้องการครูเพิ่มขึ้น ซึ่งในปัจจุบันครู อาจารย์ที่สอนในระดับมัธยมศึกษาสังกัดกรมสามัญศึกษา มีจำนวนประมาณ 121,359 คน คิดเป็นอัตราส่วนต่อนักเรียนเท่ากับ 1 : 22 ภายในปี 2545 ต้องจัดการศึกษาเป็น 12 ปี ดังนั้นจึงต้องการครูอาจารย์เพิ่มขึ้น 40,000 – 60,000 คน ซึ่งนโยบายของรัฐบาลให้ยุบเลิกตำแหน่งอัตราเกษียณอายุราชการถึงร้อยละ 80 ประกอบกับกระทรวงศึกษาธิการต้องเก็บอัตราไว้บรรจุตามโครงการผลิตครูพิเศษต่าง ๆ เช่น คุรุทายาท เพชรในตม ฯลฯ ซึ่งก็ไม่เพียงพอในขณะนี้ และยังทำให้บัณฑิตใหม่ที่จบการศึกษาในช่วงปี 2541 – 2545 รวมประมาณ 1 แสนคนเศษ หรือร้อยละ 96 จะต้องตกงานหรือไปประกอบอาชีพอื่น อีกทั้งรัฐบาลยังมีโครงการเปลี่ยนเส้นทางชีวิต : เกษียณก่อนกำหนด จะยิ่งทำให้มีครู อาจารย์ส่วนหนึ่งที่จะเข้าโครงการนี้อีก ทำให้จะเพิ่มการขาดแคลนครูเพิ่มขึ้น เป็นเหตุให้ภาระงานของครูต้องรับหนักขึ้น ประการที่สอง รายได้ของครูอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ทำให้มีภาระหนี้สินเป็นจำนวนมาก ทำให้ขาดขวัญและกำลังใจ ครูจึงประกอบอาชีพเสริม คุณภาพการเรียนการสอนจึงอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างต่ำ ประการที่สาม การยอมรับในวิชาชีพครู ยังไม่ได้รับการยกย่องเท่าที่ควร ทำคนเก่งไม่อยากมาเป็นครูประกอบกับมีครูบางคนที่ประพฤติตนไม่เหมาะสมกับความเป็นครู จึงขาดความเชื่อถือ บางคนไม่มีวุฒิทางครูทำให้เข้าใจในด้านจิตวิทยาของเด็กไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้นจึงควรมีการนำใบประกาศวิชาชีพครูมาใช้อย่างจริงจัง เพราะขณะนี้ถึงแม้กระทรวงศึกษาธิการจะได้รับงบประมาณสูงสุด แต่การปฏิรูปด้านการศึกษาหากเทียบกับเพื่อนบ้าน ไทยเราเริ่มห่างออกไปทุกที ไม่สามารถจะติดอยู่ในอันดับต้น ๆ ได้จะเห็นได้จากการจัดลำดับการศึกษาในแถบเอเชีย ไทยยังตามหลังมาเลเซียเพื่อนบ้าน หากปฏิรูปการศึกษาไทยยังทำแบบเชื่องช้า ไม่รวดเร็วแล้ว จะยิ่งทำให้ไทยล้าหลัง ห่างไกลไปอีก ดังนั้นครูจึงต้องร่วมมือร่วมใจที่จะรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ก้าวเข้าสู่ยุค ค.ศ.2000 ครูต้องปรับตนเองให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังมาสู่เราให้ได้ ตามทัศนะของ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ที่กล่าวถึงครูในอนาคต (ในหนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 4 มกราคม 2542 อ้างในสำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ, 2542) เกี่ยวกับเรื่องครูอินเตอร์ ปี 2000 ว่า “ครู คือ ส่วนหนึ่งในการนำสังคม ครูไทยต้องเป็นครู International มีทั้งด้านภาษา คอมพิวเตอร์ และความคิด ยิ่งในยุคเทคโนโลยีกำลังก้าวหน้า ครูต้องมีจิตสำนึกในความเป็นครู เพราะไม่เช่นนั้นก็ไม่มีอะไรดีกว่าสิ่งที่คอมพิวเตอร์มี” และ “เมื่อครูในฐานะที่ไม่ใช่แกนหลัก หรือส่วนนำของสังคมแล้ว อาชีพครูจึงควรได้รับการทบทวนในแง่ที่ว่า ครูมีอะไรให้เด็กในสิ่งที่คอมพิวเตอร์ไม่มีบ้าง? อย่างหนึ่งที่ครูควรจะมีคือ ความสำนึกในจิตใจเพราะหากครูปราศจากความสำนึกแล้ว ครูไม่มีอะไรเหนือกว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่” “หากครูจะมีประโยชน์ต่ออนาคตของชาติแล้ว ครูจะต้องเข้าใจและอาศัยทักษะจึงจะให้ความรู้แก่ศิษย์ได้ ดังนั้น ทักษะที่ครูจะพึงมี 3 ประการ ที่อาจเรียกได้ว่าไตรสิกขาในโลกอนาคตคือ ภาษาอังกฤษ ภาษาที่สองของไทย เนื่องจากช่วยให้เข้าถึงความรู้ได้มากขึ้น นอกจากภาษาอังกฤษแล้วครูต้องมี ทักษะการคิด เพราะจะช่วยให้เข้าใจการเปลี่ยนแปลง และช่วยรักษาความเป็นครูที่สิ่งใดมาทดแทนไม่ได้ ทักษะการคิดทำให้เนื้อหาสาระมีคุณค่าเพิ่มขึ้น และยังเป็นปัจจัยตัดสินอนาคตของชาติ คือ เมื่อทุกคนในชาติรู้จักคิด ก็สามารถแสวงหาและแยกแยะข้อมูล ข่าวสารได้ และที่สำคัญ คือ จริยธรรมของการคิดที่มิใช่จะหาประโยชน์จากหน้าที่ ซึ่งเป็นเงื่อนไขแรกของการเป็นครู ข้อสุดท้าย คือ ทักษะการใช้คอมพิวเตอร์ เพราะความรู้ที่เคยบรรจุในตำราจะย้ายมาสู่ ซีดี – รอม และเว็บไซด์ต่าง ๆ และยังจะเป็นสื่อสำคัญในการเรียนการสอนในอนาคต คงต้องได้รับการตรวจสอบมากขึ้น เพราะครูที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ จะช่วยเด็กได้อย่างไร” ดังนั้นลักษณะครูที่ดีในอนาคต ควรจะมีความเมตตา เสียสละ หมั่นเพียรศึกษา ปรับปรุง วิธีการเรียนการสอนให้เหมาะสมอยู่เสมอ และต้องเอาใจใส่ทำความเข้าใจเด็กทุกคน รวมทั้งครูควรมีบทบาทให้เด็ก รู้จักเลือกสรร แยกแยะตรวจสอบข้อมูลข่าวสาร ทั้งช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้เด็ก ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญกว่าเนื้อหาที่เด็กจะได้รับ และสิ่งที่ควรจะทำมากที่สุด ก็คือ ความเป็นแบบอย่างที่ดี เพราะจะเป็นการสอนที่ดีที่สุด สังคมไทยเป็นสังคมเปิด ในอนาคตองค์ความรู้การเรียนของสังคมก็จะเปิดรับการศึกษามากขึ้น เราน่าจะมีนโยบายสร้างครู International มากกว่าโรงเรียน Inter เพราะครู International หมายถึง ครูที่พัฒนาตนเองให้เข้าใจและรู้จักโลกใหม่ โดยคงความเป็นไทยไว้ เราต้องหันมาให้ความสำคัญของโรงเรียนอนุบาล ประถม และมัธยม ให้มากกว่านี้ เพื่อช่วยให้ครูมีศักดิ์ศรี มีความภูมิใจในความเป็นครู ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับผู้เป็นครูว่า “……งานของครูในงานพิเศษ ผิดแปลกกว่างานอื่น ๆ กล่าวในแง่หนึ่งที่สำคัญก็คือว่า ครูจะหวังผลตอบแทนเป็นยศศักดิ์ ความร่ำรวย หรือประโยชน์ทางวัตถุเป็นที่ตั้งไม่ได้ ผลได้ส่วนสำคัญจะเป็นผลทางใจ ซึ่งผู้เป็นครูแท้ ก็พึงใจและภูมิใจอยู่แล้ว …….” 9 ตุลาคม 2516 “……..จะต้องฝึกฝนตนเองให้แตกฉานและแม่นยำ ชำนาญ ทั้งในวิชาความรู้ และวิธีสอน เพื่อสามารถสั่งสอนให้อย่างกระจ่างแจ้งและถูกต้องสมบูรณ์…….” 17 มิถุนายน 2524 และยังทรงให้ข้อคิดแก่ “ครู” ว่า “……..ผู้เป็นครูอย่างแท้จริงนับว่าเป็นบุคคลพิเศษ ต้องแผ่เมตตาและเสียสละ เพื่อความสำเร็จ ความก้าวหน้า และความสุข ความเจริญของผู้อื่นอยู่ตลอดชีวิต…….” 13 ตุลาคม 2540 จากพระราชดำรัสและข้อคิดของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานให้แก่ครูทั้งหลาย เพื่อจะได้พึงระลึกและนำไปสู่การปฏิบัติสมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นครูที่แท้จริง ในวาระมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542 ขอพระองค์จงทรงพระเจริญ ยิ่งยืนนาน

บทความของ รศ.วิไล ตั้งสมจิตสมคิด
สถาบันราชภัฎธนบุรี
ที่มา http://come.to/wilai

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น